วันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2558

การคิดเป็นเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมไทย

“การศึกษาคือกระบวนการที่ทำให้คนและสังคมเจริญงอกงาม ยิ่งเรียนยิ่งขยัน ยิ่งเรียนยิ่งอดทน ยิ่งเรียนยิ่งซื่อสัตย์ ยิ่งเรียนยิ่งมีความกตัญญู ยิ่งเรียนยิ่งรักปู่ย่าตายาย ดูแลปู่ย่าตายาย ไปไหนก็ดูแลซึ่งกันและกัน บ้านเมืองก็จะมีแต่ความสุข” 

เนื้อหาในส่วนนี้ได้รวบรวมสาระ แนวคิด บทความของท่าน ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ ที่เป็นผู้ให้นิยาม คำว่า คิดเป็น"กระบวนการคิดเพื่อตัดสินใจ" โดยใช้ข้อมูล 3 ด้าน คือ ข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทาง สังคมหรือสิ่งแวดล้อม และข้อมูลทางวิชาการ ปรัชญา "คิดเป็น" มีรายละเอียดและสาระที่น่าศึกษา 


การ"คิดเป็น"เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมไทย "คิดเป็น มาจากแนวคิดที่ว่า ธรรมชาติของมนุษย์ ทุกคนต้องการความสุข คนคิดเป็นจะสามารถดำรงชีวิต ให้พบความสุขได้" 

มนุษย์มีจิตสำนึกที่จะใคร่ครวญ และแสวงหารากเหง้าที่มาของปัญหาและความทุกข์ และพิจารณาทางเลือก และหาคำตอบต่างๆ เพื่อจะได้ตัดสินใจกระทำการหรือไม่ ในการแสวงหาคำตอบแทนที่จะยอมจำนนต่อปัญหา หรือโชคชะตา โดยกระบวนการที่จะพัฒนาการคิดเป็นให้กับบุคคลตามทฤษฎีการ "คิดเป็น" ซึ่งจะเป็น กระบวนการตัด และตัดสินใจแก้ไขปัญหาด้วยข้อมูล 3 ประเภท ได้แก่ ข้อมูลตนเอง ข้อมูลสังคมสิ่งแวดล้อม และข้อมูลวิชาการ มาประกอบการตัดสินใจ 

กระบวนการคิดเป็น จึงเป็นเป็นการทำให้บุคคลได้เข้าใจตนเองอย่างถ่องแท้ว่า ตนเองเป็นใคร และอะไรคือสิ่งที่ตนเองต้องการ รวมทั้งการเข้าใจสภาพสังคมสิ่งแวดล้อมที่ตนเองดำรงชีวิต และสามารถนำข้อมูลวิชาการที่มีอยู่มาประกอบการคิดและตัดสินใจ โดยวิเคราะห์ วิจารณ์อย่างเป็นระบบ ภายใต้หลักการ เหตุผล หลักคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งนำไปสู่การปฏิบัติจนเกิดความพึงพอใจ เป็นบุคคลที่มีพฤติกรรมคิดเป็น เป็นคนดี คนเก่ง และพบกับความสุขได้ในที่สุด ศาสตราจารย์ อุ่นตา นพคุณ ได้สรุปความเชื่อพื้นฐานเกี่ยวกับ การคิดเป็น มี 4 ประการ ที่จะทำให้เกิดความเข้าใจกระบวนการคิดเป็นได้อย่างชัดเจน คือ 
  • ประการที่ 1 มนุษย์ทุกคนต้องการความสุข
  • ประการที่ 2 การใช้ข้อมูล 3 ประเภท พร้อมกันประกอบการคิดแก้ไขปัญหา
  • ประการที่ 3 เป็นการคิดเพื่อการตัดสินใจแก้ไขปัญหา
  • ประการที่ 4 มนุษย์มีเสรีภาพในการตัดสินใจกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง

คิดเป็น จึงเป็นกระบวนการที่จะทำให้มนุษย์กำหนดปรัชญาในการดำรง ชีวิตของตนเองในแต่ละด้านว่า ตนเองเป็นใคร ควรทำอะไร ทำทำไม ทำอย่างไร ทำเพื่อใคร ซึ่งทั้งหมดต้องเป็นสิ่งที่ตนเองต้องการ และนำกระบวนการคิดเป็นนั้นไปสู่ปรัชญาที่กำหนดให้สำเร็จ และในที่สุดก็จะสามารถนำพาชีวิตไปถึงเป้าหมายสูงสุด คือ ความสุข ซึ่งเป็นปรัชญาชั้นสูงสุดในการดำรงชีวิตมนุษย์ที่จะทำให้สามารถดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพได้ 


ความเชื้อพื้นฐานเกี่ยวกับ "การคิดเป็น" 
  1. มนุษย์ทุกคนต้องการความสุข ข้อตกลงเบื้องต้นของการ "คิดเป็น" คือ มนุษย์ทุกคนต้องการความสุข คือ เชื่อว่าคนเราจะมีความสุข เมื่อคนเราและสังคมสิ่งแวดล้อม ประสมกลมกลืนกันอย่างราบรื่นทั้งทางวัตถุ กาย ใจ และมนุษย์จะไม่มีความสุขเมื่อมีปัญหา ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อเกิดช่องว่างระหว่างสภาพการณ์และสิ่งที่เขามีอยู่จริง ปัญหาในช่วงชีวิตมนุษย์แต่ละคนเป็นเรื่องสลับซับซ้อน และเกี่ยวโยงถึงปัจจัยต่าง ๆ การคิดที่ใช้ข้อมูลประกอบการคิดเพื่อแก้ไขปัญหา และเกิดความพึงพอใจ
  2. การคิดเป็น เป็นการคิดเพื่อแก้ปัญหา เนื่องจากการคิดมีจุดเริ่มที่ตัวปัญหา และพิจารณาไตร่ตรองถึงข้อมูล 3 ประการ คือ ข้อมูลตนเอง ข้อมูลสังคมสิ่งแวดล้อม และข้อมูลทางวิชาการ ต่อจากนั้นก็ลงมือกระทำการ ถ้าหากกระทำการ ทำให้ปัญหาและไม่พอใจหายไป กระบวนการคิดจะยุติลง แต่ถ้าหากบุคคลยังรู้สึกไม่พอใจ ปัญหายังคงมีอยู่ ก็จะเริ่มกระบวนการคิดอีกครั้ง
  3. การใช้ข้อมูล 3 ประเภท พร้อมกันประกอบการแก้ปัญหา ตามแนวคิดเรื่องการคิดเป็น บุคคลที่จะถือว่าเป็นคนคิดเป็น จะต้องเป็นบุคคลที่ใช้ข้อมูล 3 ปรเภทไปพร้อมกันประกอบการตัดสินใจแก่ปัญหา การคิดที่อาศัยข้อมูลประเภทใดประเภทหนึ่งหรือสองประเภท ยังไม่ถือว่าบุคคลนั้นเป็นคนคิดเป็นได้สมบูรณ์แบบ
    ข้อมูล 3 ประเภท ได้แก่ 1) ข้อมูลตนเอง 2) ข้อมูลสังคมสิ่งแวดล้อม 3) ข้อมูลวิชาการ
    ข้อมูลตนเอง (Information of self)
    ข้อมูลประเภทตนเอง ถูกกำหนดขึ้นเพราะอิทธิพลทางศาสนา ปรัชญา และจิตวิทยา โดยเฉพาะพระพุทธศาสนา ซึ่งได้สั่งสอนให้บุคคลพิจารณาและเฝ้ามองตนเอง และแก้ไขทุกข์ด้วยตนเอง มีอิทธิพลต่อการกำหนดข้อมูลประเภทนี้ การ "คิดเป็น" ซึ่งมีจุดมุ่งหมายต้องการให้บุคคลใช้ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับตนเอง ได้แก่ ข้อมูลในเรื่องสถานภาพทางเศรษฐกิจ สถานภาพทางสังคม สุขภาพอนามัย ระดับการศึกษา ความรู้ ความถนัด ทักษะ วัย เพศ และอื่น ๆ ซึ่งข้อมูลประเภทนี้ต้องการให้พิจารณาจุดอ่อน จุดแข็ง ข้อดี ข้อเสียของตนเองอย่างจริงจังก่อนการตัดสินใจกระทำสิ่งใด
    ข้อมูลสังคมและสิ่งแวดล้อม (Information on Society and Environment)
    ธรรมชาติมนุษย์เป็นสัตว์สังคมไม่ได้อยู่ตามลำพัง ข้อมูลประเภทนี้จึงถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้บุคคลใช้ความนึกคิด คำนึงถึงสิ่งที่อยู่นอกกาย คำนึงถึงผู้อื่น ชุมชน ตลอดจนสภาพแวดล้อมสังคมส่วนรวม หากบุคคลใช้ข้อประเภทตนเองอย่างเดียวก็จะเป็นคนเห็นแก่ตัว และเป็นคนใจแคบ ดังนั้นอิทธิพลของสังคมและสิ่งแวดล้อมจึงมีผลกระทบต่อมนุษย์เสมอ สิ่งแวดล้อมของมนุษย์ประกอบด้วยปัจจัยที่แตกต่างกัน แต่ก็ส่งผลกระทบชีวิตมนุษย์ทุกคน และในทางกลับกัน การกระทำของมนุษย์ก็ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมของตัวมนุษย์ด้วย ข้อมูลสังคมสิ่งแวดล้อม อาจแยกได้เป็นข้อมูลสังคมและจิตใจ เช่น พฤติกรรมของมนุษย์ในการอยู่ในสังคมด้วยความถูกต้อง เหมาะสม และข้อมูลกายภาพ เช่น ภูมิอากาศ ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น
    ข้อมูลวิชาการ (Technical or Book Knowledge)
    ในความหมายของการคิดเป็น หมายถึง ข้อมูลและความรู้อันมหาศาลที่มนุษย์เราได้สะสมรวบรวมไว้เป็นเนื้อหาวิชาต่าง ๆ เป็นหลักสูตร เป็นศาสตร์ แนวคิดเรื่องการคิดเป็น ตระหนักว่า บุคคลนั้นถึงแม้ว่าจะเข้าใจตนเอง เข้าใจสังคมสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดีก็ตาม แต่ถ้าขาดข้อมูลทาวิชาการไป อาจจะเสียเปรียบผู้อื่นในการดำรงชีวิตและ การแก้ปัญหา เพราะว่าในปัจจุบันนี้โลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มนุษย์และสังคมถูกเปลี่ยนเพราะความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการ ดังนั้นมนุษย์จำเป็นที่จะต้องได้รับความรู้และข้อมูลทางวิชาการ มาใช้ประกอบการตัดสินใจเพื่อให้ได้คำตอบที่ดีที่สุดในการดำรงชีวิต จากความเชื่อพื้นฐาน เรื่องการใช้ข้อมูล 3 ประเภทพร้อมกันประกอบการตัดสินใจแก้ปัญหา เป็นลักษณะเด่นของเรื่อง "คิดเป็น" การกำหนดให้ใช้ข้อมูลประเภทต่าง ๆ วิเคราะห์และหาหนทางแก้ปัญหา และเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลใช้ข้อมูลพิจารณาปัญหาจากจุดยืนหรือมิติเดียว
  4. เสรีและอำนาจการตัดสินใจกำหนดชะตาชีวิตตนเอง ความเชื่อพื้นฐานข้อนี้มาจากคำสั่งสอนของพุทธศาสตร์โดยตรง และปรัชญาการศึกษาสำนักมนุษยนิยม คือพุทธศาสนา สอนว่า ปัญหาหรือความทุกข์ของมนุษย์เกิดขึ้นตามกระบวนการแห่งเหตุผล และทุกข์หรือปัญหาของมนุษย์เป็นสิ่งที่แก้ไขได้ พร้อมทั้งได้ให้วิธีแก้ไขด้วย อริยสัจ 4

กล่าวโดยสรุป ความเชื่อพื้นฐานของการ "คิดเป็น" มาจากธรรมชาติของมนุษย์ที่ว่าสิ่งที่เป็นยอด ปรารถนา คือ ความสุข และมนุษย์เราจะมีความสุขที่สุดเมื่อตนเอง และสังคม สิ่งแวดล้อม กลมกลืนกันอย่างราบรื่น ทั้งด้านวัตถุ กาย และใจ การที่มนุษย์เรากระทำได้ยากนั้น แต่อาจทำให้ตนเอง และสิ่งแวดล้อมประสมกลมกลืนกันได้เท่าที่แต่ละคน หรือกลุ่มคนจะสามารถทำได้ โดยกระทำดังต่อไปนี้ 
  1. ปรับปรุงตัวเองให้เข้ากับสังคมสิ่งแวดล้อม
  2. ปรับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับตัวเรา
  3. ปรับปรุงทั้งตัวเราและสังคมสิ่งแวดล้อม ทั้งสองด้านให้ประสมกลมกลืนกัน
  4. หลีกสังคมและสิ่งแวดล้อมหนึ่ง ไปสู่สังคมสิ่งแวดล้อมหนึ่งที่เหมาะสมกับตน
บุคคลที่จะสามารถดำเนินการข้อใดข้อหนึ่ง หรือหลายข้อเพื่อตนเองและสังคมสิ่งแวดล้อมประสมกลมกลืนกัน เพื่อตนเองจะได้มีความสุขนั้น บุคคลผู้นั้นต้อง "คิดเป็น" เพราะการคิดเป็นการทำให้บุคคลสามารถแก้ไขปัญหาได้ บุคคลที่มีแต่ความจำ ย่อมไม่สามารถดำเนินการตามข้อใดข้อหนึ่งใน 4 ข้อได้ คนที่ทำเช่นนี้ได้ต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถคิดแก้ปัญหา สามารถรู้จักตนเองอย่างถ่องแท้ และรู้จักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในสังคมนั้น 

การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน จะสามารถช่วยพัฒนาการคิดเป็นให้เกิดขึ้นได้ โดยครูควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้คิด ตัดสินใจ และลงมือปฏิบัติจริงในกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ และเกิดกระบวนการคิด โดยการคิดนั้นควรส่งเสริมการใช้เหตุผล หลักคุณธรรมเป็นสำคัญ เพื่อให้รู้ว่าเขาเป็นใคร ทำอะไร จะทำอย่างไร ทำเพื่ออะไร จะได้ผลอย่างไร ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวครูสามารถนำกระบวนการ "คิดเป็น" ซึ่งเป็นกระบวนการคิดที่มีการรวบรวมข้อมูลด้านต่าง ๆ ให้ครบก่อนการตัดสินใจ จึงน่าจะเป็นกระบวนการคิดที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตในยุคข่าวสารข้อมูลได้เป็นอย่างดี

อ้างอิง ;  northnfe.blogspot.com

1 ความคิดเห็น: